หัวข้อ “ไขปริศนาลายนิ้วมือ..ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
(20 สิงหาคม 2560) ณ เวทีกลาง งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2560
ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
ร่วมกับ สภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสวทท.) จัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน..ฉันวิทย์” เพื่อสร้างความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในหัวข้อ “ไขปริศนาลายนิ้วมือ..ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แก่ พ.ต.อ.หญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศนักวิทยาศาสตร์ (สบ4) กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เสวนาในหัวข้อ “การตรวจพิสูจน์หลักฐานจากลายนิ้วมือ” และคุณนันทวรรณ ศรีจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ศักยภาพด้วยลายนิ้วมือ บริษัท ไมเนอร์คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เสวนาในหัวข้อ “ลายผิววิทยาสัมพันธ์กับสมอง” และดำเนินการเสวนาโดยคุณคุปตนันต์ พิสิฐมหันต์ ผู้ประกาศข่าวช่องไทยรัฐทีวี
พ.ต.อ.หญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศ เปิดเผยว่า การยืนยันตัวบุคคลด้วยวิธีวิทยาศาสตร์สามารถใช้ยืนยันตัวบุคคลได้ เช่นลายพิมพ์นิ้วมือ (Fingerprint) การเปรียบเทียบสารพันธุกรรม (DNA Identification) และการตรวจสภาพฟัน (Dental Status) อีกทั้งคุณสมบัติของลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน (Uniqueness)และไม่เปลี่ยนแปลง (Permanence) ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งวันที่เราตาย แต่อาจเปลี่ยนแปลงขนาดได้ตามขนาดร่างกาย
นอกจากนี้ รูปแบบของลายนิ้วมือ(Fingerprint Pattern)มี 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ
1.โค้ง (Arch) 2.มัดหวาย (Loop) และ 3.ก้นหอย (Whorl)
ด้านคุณนันทวรรณ ศรีจันทร์ กล่าวว่าวิวัฒนาการในปัจจุบันทำให้เราสามารถพัฒนาขีดความรู้ความสามารถของมนุษย์ได้อย่างมีศักยภาพสูงสุด เพราะสามารถพัฒนาได้ทุกด้านทุกทางที่อยากจะให้ตัวเองเป็นเลิศ แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากคุณพัฒนาตัวเองให้ถูกต้องตามทิศทางที่คุณถนัด ไม่ใช่พัฒนาตัวเองให้เก่งในด้านที่ไม่ควรจะเป็น เพราะ สมองแต่ละส่วนมีหน้าที่ในการเรียนรู้แตกต่างกัน เช่นสมองซีกซ้ายส่วนหน้าของสมองกลีบหน้า เกี่ยวกับเรื่องของการบริหารการจัดการสมองซีกขวาส่วนหน้าของสมองกลีบหน้า เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ หรือสมองซีกขวาส่วนกลีบข้าง เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เป็นต้น ทุกคนมีความถนัดที่ต่างกัน หากเราพัฒนาขีดความสามารถให้ตรงส่วนที่ถนัด ก็จะสร้างความเป็นเลิศสู่ความเป็นอัจฉริยะให้กับตัวคุณเองและลูกน้อยคุณได้ไม่จำเป็นว่าจะต้องผ่าสมองทั้งสองซีกออกมาเพื่อดูว่าด้านใดเด่น ด้านใดควรสนับสนุนหรือพัฒนา หากแต่ว่าสวรรค์ได้ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายกว่าที่เราคิด ด้วยการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3728 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-mail : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand
credit : https://goo.gl/pZAAXX