ตอน น้องเสือผู้น่ารัก
คุณแม่มือใหม่กับลูกชายวัยก่อนเรียน ที่มีปัญหาน่าปวดหัว มาเล่าให้หมอกอล์ฟฟัง เธอเล่าให้ฟังว่า
“คุณหมอคะ พี่บอกให้น้องเค้าทำอะไร ก็ไม่ค่อยจะยอมทำ สอนเรื่องเดิมๆซ้ำๆทุกๆวัน ก็ไม่ยอมทำ จนบางทีก็หลุดปากพูดคำที่พี่ก็รู้ว่าไม่น่าฟังออกไปหลายครั้ง”
“คำอะไรเหรอครับ” หมอกอล์ฟสงสัย
“อย่าให้พูดหลายๆครั้งได้ไหม”
“เอ๊ะ เปล่านะครับ ผมเพิ่งถามพี่ครั้งแรกเอง”
“เปล่าค่ะ พี่ไม่ได้ว่าหมอ แต่พี่หมายความว่า พี่พูดคำนี้ กับลูกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ”
“อ้าวเหรอครับ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีเลยนะครับ”
การที่คุณแม่พูดหรือสอนลูกหลายๆครั้ง แต่ใช้คำพูดเหมือนเดิมและน้ำเสียงโทนเดิมตลอด อาจเข้าข่ายลักษณะพูดเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา เมื่อลูกฟังแบบผ่านๆไม่ยอมทำตาม ก็จะทำให้พ่อแม่โมโห พูดด้วยเสียงที่ดังมากขึ้น สักพักลูกก็จะชินกับเสียงระดับนั้น พ่อแม่ก็จะต้องดุด้วยเสียงที่ดังมากขึ้นไปอีก แบบนี้ไม่ดีทั้งสองฝ่าย
เพราะนอกจากที่ลูกจะไม่ยอมทำตามแล้ว ลูกเองก็จะฝังใจว่าพ่อแม่เป็นคนอารมณ์ร้าย ตัวเองเป็นเด็กดื้อ ต่อให้โดนว่าแค่ไหนก็จะไม่ยอมทำตาม แทนที่จะตวาดดุลูก อาจต้องลองเปลี่ยนวิธีการสอนด้วยน้ำเสียงเรียบๆแบบธรรมดา แบบ อดทนหลายๆครั้ง ลูกอาจจะยอมทำตามเอง แต่นั่นก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะว่าอารมณ์ด้านบวกของคนเราก็มีขีดจำกัด หากสูญเสียไปกับความหงุดหงิด ก็จะไม่เหลือสิ่งดีๆที่จะมอบให้กับลูก
หากลูกมีปัญหาด้านการฟัง ให้ปรับเทคนิคด้วยการนำสิ่งที่จะพูดมาเขียนเป็นตัวหนังสือหรือวาดเป็นภาพการ์ตูนแปะแทน
บางทีอาจจะเปลี่ยนเป็นคำพูดที่นุ่มนวลกว่าแทน เช่น ช่วยแม่…หน่อยนะ และเมื่อลูกยอมทำแล้ว อาจจะบอกว่า “เก่งจังเลย ขอบใจจ้า”
อีกรายหนึ่ง คุณแม่ก็มาบ่นๆ ให้หมอกอล์ฟฟังเรื่องที่ลูก มีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป จนชอบเถียง
“คุณหมอค่ะ พี่เบื่อมากเลย ที่เวลาสั่งให้ลูกทำอะไร ลูกก็จะชอบเถียง ก็มัน….นี่นา แต่ มัน…นี่นา บอกให้ไปช่วยงานบ้านบ้างก็ไม่ยอม ให้ไปทำการบ้านก็ไม่ยอม”
“แล้วพี่ดุเค้าไปว่าอย่างไรครับ”
“ไม่ต้องมาเถียงนะ”
ผมอยากให้มองในด้านกลับกันนะครับ พี่ลองคิดถึงแง่ดีของการเถียงสักหน่อยนะครับ แสดงว่าเค้ากล้าแสดงออกในความคิดเห็นของตนเอง และเชื่อว่าพ่อแม่จะคอยรับฟังปัญหาของเขา อาจจะมีหงุดหงิดบ้าง แต่ก็ถือได้ว่าเลี้ยงลูกมาถูกทางแล้ว ตรงกันข้ามหากลูกไม่เถียงไม่แย้งเลย แสดงว่าเขาถอดใจแล้ว พูดไปพ่อแม่ก็ไม่ฟัง เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นคนที่หมดความมั่นใจ ไม่มีความคิดเป็นของตนเอง คลอยตามคนรอบข้างได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตัวเขาเองในอนาคต
ลองเปลี่ยนมาเป็นพูด “เกิดอะไรขึ้นเหรอ… หรือ บอกเหตุผลแม่หน่อยสิ” อาจจะทำให้คุณเปิดใจ รับฟังสิ่งดีๆที่ลูกพูด แล้วต้นพบว่าเขาก็มีหลักการและเหตุผลของเขาเองเช่นกัน เมื่อเห็นว่าพ่อแม่ยอมรับฟังเขาแล้ว เขาก็จะสงบลงและพร้อมที่จะรับฟังพ่อแม่บ้าง
เด็กน้อยทั้งสองรายนี้ เมื่อมาวิเคราะห์ลายนิ้วมือ ที่นิ้วหัวแม่มือด้านซ้าย ปรากฎว่าเป็นลักษณะลายก้นหอย หรือบุคลิกภาพแบบเสือ ซึ่งจะเป็นบุคลิกภาพแห่งความเป็นผู้นำสูง มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตนเอง คิดเร็ว ทำเร็ว ไม่ชอบถูกควบคุม และถ้าหากจะสอนให้เด็กเหล่านี้กลายเป็นเด็กดีในอนาคต จะต้องสอนด้วยวิธีการค่อยๆแนะนำ ดจาด้วยคำพูดที่ไม่ดัง หรือใช้อารมณ์ ให้เลือกวิธีการสื่อสารที่ให้เด็กรู้สึกยอมรับตัวเอง ไม่ไปลดความมั่นใจของเขา สอนโดยการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน