ไม่ว่าลูกของคุณจะเป็นคนชอบเข้าสังคม หรือเป็นคนขี้อาย การเข้าสังคมก็เป็นส่วนสำคัญในพัฒนาการของลูกน้อย ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบิร์ก นักจิตวิทยาเฉพาะด้านพัฒนาการของเด็กกล่าวว่า “พัฒนาการทางสังคมของลูกน้อยเกี่ยวพันกับสิ่งอื่นๆ โดยเฉพาะการเดินจะช่วยให้เด็กเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเนื่องจากเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มเดินได้ตอนอายุประมาณ 1 ขวบ จะเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มเห็นว่าลูกน้อยมีการพัฒนาการทางสังคมที่ค่อนข้างชัด”
พัฒนาการทางสังคมนี้สำคัญเพราะพัฒนาการนี้จะเป็นตัวที่เตรียมความพร้อมให้เด็กในด้านการจัดการอารมณ์ การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนอื่น และการติดต่อสื่อสารที่มีมารยาทและเป็นที่ยอมรับ มาลองดูกันดีกว่าว่าสิ่งใดบ้างที่เราควรคาดหวังต่อลูกรักเมื่อเด็กๆ เริ่มมีพัฒนาการทางสังคม
1 ขวบ
แม้ว่าโปรแกรม mommy-and-me (แม่และฉัน) จะเป็นวิธีที่ดีที่จะแนะนำตัวลูกน้อยของคุณให้เด็กคนอื่นๆ รู้จัก แต่เด็กจะรับรู้บทบาททางสังคมส่วนใหญ่ได้จากคุณ ในเด็กที่มีอายุเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยของคุณสามารถทำได้ดังนี้
เริ่มสื่อสารเบื้องต้นได้ ด็อกเตอร์มาเรีย คาลพิโด ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนในวอร์เซสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า เด็กอายุ 1 ขวบจะใช้วิธีชี้หรือทำเสียงเพื่อที่จะบอกสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้นการพยายามสื่อสารกับลูกน้อยของคุณโดยการตอบรับสิ่งที่เขามองหรือชี้ไปที่สิ่งสวยงามต่างๆรอบตัวเขาเป็นสิ่งสำคัญ
เริ่มจำคนที่คุ้นเคยได้ เมื่อเด็กๆ ได้เห็นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย พี่เลี้ยงเด็ก หมอเด็ก และคนอื่นๆ ที่เขาคุ้น ลูกน้อยของคุณจะเริ่มทักทายพวกเขาด้วยการยิ้ม (หรือร้องไห้ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของลูกน้อย) ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบิร์ก กล่าวว่า “ถ้าลูกไม่สนใจคนรอบข้าง นั่นเป็นเป็นสัญญาณเตือนที่ร้ายแรง คุณต้องการให้เขารับรู้ถึงบางสิ่ง และบางคนรอบๆ ตัวเขา แม้ว่าเขาจะร้องไห้เวลาเมื่อคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในห้อง”
เริ่มติดต่อสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ ถ้าลูกของคุณส่งของเล่นให้คุณ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเต็มใจและความสามารถในการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น และยังเป็นเตรียมความพร้อมไปสู่บทเรียนของการผลักดันไปมา แต่อย่าเพิ่งคาดหวังมากเกินไปในการที่จะให้ลูกของคุณแบ่งปันสิ่งของ ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบิร์กกล่าวว่า “การเล่นส่งของให้และเอาคืนเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณต้องการที่จะให้ลูกน้อยแสดงสัญญาณความเป็นตัวของตัวเองและอยู่ในสถานการณ์สังคมที่เหมาะสมได้พร้อมๆกัน”
อายุ 2 ขวบ
เด็กที่มีอายุประมาณนี้จะเริ่มมีส่วนร่วมกับสิ่งที่อยู่รอบข้างมากขึ้น แต่ลูกอาจจะยังชอบการเล่นกับคุณพ่อคุณแม่มากกว่า เมื่ออายุเท่านี้ ลูกของคุณจะสามารถทำได้ดังนี้
เริ่มเข้าสังคม ลูกน้อยจะเริ่มเล่นกับเด็กที่มีอายุเท่ากัน ซึ่งหมายความว่าลูกน้อยจะเริ่มเล่นกับคนข้างบ้านแทนการเล่นกันเอง ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบิร์กกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “อาจจะยังไม่มีการพูดคุยกันมากในเด็กช่วงวัยนี้ แต่การให้ลูกน้อยของคุณได้ใช้เวลากับเด็กคนอื่นๆ ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ”
เริ่มมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น การแสดงความสนใจต่อคนอื่นเป็นส่วนสำคัญของการเข้าสังคม และเด็กๆ จะเริ่มติดต่อสื่อสารกับพ่อแม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับคุณตาคุณยาย หรือโบกมือทักทายแม่ค้าที่ตลาด ก็เท่ากับว่าลูกน้อยของคุณกำลังสนุกสนานที่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้ว่าเด็กบางคนจะไม่ได้กล้าแสดงออกกับคนอื่น ก็อย่าเพิ่งรีบตัดสินลูกว่าเป็นคน “ขี้อาย” ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบิร์กอธิบายว่า “ผู้ปกครองมักจะมองว่าขี้อายเป็นเรื่องไม่ดี แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องธรรมดาที่สำหรับเด็กที่จะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยกับคนที่เขาไม่รู้จัก หรือไม่ได้เห็นบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องให้เวลาลูกในการปรับตัวตามสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เขายังไม่คุ้น และให้เขาเป็นคนนำเอง”
อายุ 3 ขวบ
อาจจะใกล้ถึงเวลาที่ลูกของคุณจะต้องเข้าชั้นเรียนเตรียมอนุบาล ซึ่งเขาจะได้เข้าสังคมกับเพื่อนคนอื่นๆ และเป็นโอกาสที่เขาจะได้มีเพื่อน คุณจะสังเกตเห็นได้ว่าลูกของคุณที่มีอายุเท่านี้สามารถทำได้ดังนี้
เริ่มหาเพื่อน ในช่วงวัยนี้จะเริ่มเล่นเป็นกลุ่ม ดังนั้น ลูกของคุณจะเริ่มมองหาเพื่อนคนอื่นๆ ” ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบอร์กแนะนำว่า “ในช่วงวัยนี้ การให้ลูกของคุณได้ใช้เวลาร่วมกับเด็กคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญ” แต่คุณอาจจะต้องช่วยลูกของคุณในการหาสังคมให้ลูก และแม้ว่าเขาจะเข้าใจกฎเรื่องความปลอดภัยและเรื่องการแสดงพฤติกรรมบางอย่าง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะค่อยๆ เตือนเขาเรื่องการแบ่งปัน และการตอบแทน
เริ่มใช้จินตนาการ การแต่งตัว การเล่นละคร และกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมให้ลูกเล่นกับเด็กคนอื่น ด็อกเตอร์มาเรีย คาลพิโดกล่าวว่า “ลูกของคุณจะมีเพื่อนได้ขึ้นอยู่กับความสนใจที่มีเหมือนกัน” การแบ่งปันอาจจะเป็นเรื่องยังยากสำหรับเด็กในวัยนี้ แต่เด็กในวัยนี้จะเริ่มเข้าใจการประนีประนอม และการให้เกียรติคนอื่นๆ ด็อกเตอร์มาเรีย คาลพิโดเสริมอีกว่า “เด็กในวัยนี้มีแนวโน้มที่จะแก้ปัญหาที่มีกับเพื่อนได้มากขึ้น เพื่อที่จะรักษามิตรภาพของพวกเขาเอาไว้ได้และแสดงการกระทำที่ดีให้คนอื่นเห็น”
เริ่มเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ลูกน้อยของคุณยังคงเรียนรู้สิ่งที่ดีที่สุดจากคุณ ดังนั้นชี้ให้เขาเห็นความรู้สึกทีแตกต่างกัน (มีความสุข เศร้า กลัว) เวลาที่ให้เขาดูทีวี หรืออ่านหนังสือ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยของคุณเข้าใจความรู้สึกของตัวเขาเองและของคนอื่นได้มากขึ้น นอกจากนี้ เด็กๆ จะเริ่มแสดงความเข้าใจผู้อื่นโดยการกอด หรือหอมเวลาที่จำเป็น
อายุ 4 ขวบ
ใกล้จะถึงเวลาที่ลูกของคุณจะต้องเข้าอนุบาล แล้วลูกของคุณก็จะได้เรียนรู้วิธีการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ เด็กที่อยู่ในวัยนี้จะสามารถทำได้ดังนี้
แสดงความสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ลูกของคุณในวัยนี้จะสนุกสนานกับการเล่นกับเด็กคนอื่นๆ และสื่อสารกับเพื่อนๆ มากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญได้พูดถึงเรื่องนี้ว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะให้เด็กเข้าร่วมในทีมกีฬา เช่น ฟุตบอล หรือ บาสเกตบอล ด็อกเตอร์ฮีตเทอร์ วิทเทนเบอร์กแนะว่า “ลองเลือกกิจกรรมที่ไม่ค่อยมีกฎหรือข้อห้ามมากเกินไป ไม่เช่นนั้น อาจจะกลายเป็นการทำลายประสบการณ์ของพวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เล่นกีฬานั้นอีกเลย”
แบ่งปันและร่วมมือกับคนอื่นมากขึ้น อาจจะมีการแย่งของเล่นกันบ้างแต่ลูกของคุณจะเข้าใจว่าจะต้องแบ่งปันและรอ ด็อกเตอร์มาเรีย คาลพิโดกล่าวว่า “ลูกของคุณจะนึกถึงจิตใจของคนอื่นมากขึ้นซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการต่อรอง การแก้ปัญหาด้วยคำพูด การควบคุมอารมณ์ของกลุ่ม และควบคุมความประพฤติของเพื่อนคนอื่นๆ ”
แสดงความรักทางกาย ในช่วงนี้ลูกตัวน้อยของคุณจะต้องการการกอดและหอมมากขึ้นและจะแสดงความรักกับครอบครัวและเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เขาเห็นว่าคนที่เขารักกังวลใจ ด็อกเตอร์มาเรีย คาลพิโดกล่าวว่า เด็กๆ ในวัยนี้จะเริ่มมีใจนึกถึงส่วนรวมมากขึ้น เช่นการแบ่งปัน และการแสดงความเข้าใจผู้อื่น”
เริ่มพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น การเป็นผู้ปกครองที่กำลังติดอยู่ในสถานการณ์ไร้ทางออกคือ การที่คุณอยากให้ลูกพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น แต่ลูกมักจะเลือกเวลาที่ไม่ใช่ เช่น เวลาที่ลูกยืนกรานว่าจะแต่งตัวด้วยตนเองขณะที่กำลังจะสาย หรือเวลาที่ลูกอยากจะช่วยเก็บของเล่น (แต่เก็บผิดที่) แต่อย่างไรก็ตาม การมีความมั่นใจกับสบายใจในความสามารถของตัวพวกเขาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเข้าสังคมผ่านไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเวลาที่พวกเขาเติบโตขึ้น
รู้อย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ อย่าลืมที่จะไปสำรวจลูกๆ ที่บ้านกันนะคะ