ปัญหาหลักของพ่อแม่หลายคนคือ พูดแล้วลูก ๆ ไม่ฟัง! แล้ววิธีใดล่ะที่จะทำให้เด็ก ๆ ตั้งใจฟังคุณ? แต่ละวิธีที่คุณเลือกที่จะสื่อสารออกมาก็ต่างมีผลกับวิธีการเรียนรู้ของพวกเขา และความสามารถในการฟังของพวกเขา
บทความจากเว็บไซต์ Child Development Info กล่าวว่า มี 3 วิธีหลัก ที่พ่อแม่ใช้ในการสนทนากับเด็ก ๆ
- วิธีการพูดแบบก้าวร้าว เช่น ใช้การตะโกนบ่อย หรือใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็ก ๆ โดยเด็ก ๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูเช่นนี้ก็จะโต้ตอบโดยการ แสดงออกแบบที่รุนแรงกว่า ตะโกนกลับ หรือไม่ฟังคำสั่ง
- วิธีการพูดแบบไม่โต้แย้ง เช่น การบ่นแบบไม่รุนแรง ใช้การเตือนเป็นหลัก โดยพ่อแม่ประเภทดังกล่าว บางทีอาจจะไม่สามารถรับมือกับเด็ก ๆ ได้จนกลายเป็นพ่อแม่ประเภทแรกก็ได้
- วิธีการพูดที่ยืดหยัดและมั่นใจ เช่น การพูดที่เสมอต้นเสมอปลาย ชัดเจน อบอุ่น และมั่นใจ ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการสื่อสารกับลูก เพราะจะทำให้เด็ก ๆ รับรู้ว่าพ่อแม่รู้ตัวจริง ๆ ว่ากำลังพูดเรื่องอะไรอยู่ และต้องการสื่อสารอะไร
เมื่อรู้วิธีการหลักที่พ่อแม่หลายคนได้ใช้สื่อสารกับลูก ๆ แล้ว ก็ลองมาดูทริคส์ง่าย ๆ เพื่อที่จะพัฒนาวิธีการพูดกับลูก ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่า!
- เรียกด้วยชื่อของพวกเขาก่อน เพื่อดึงความสนใจ แล้วจึงพูด
- เลี่ยงที่จะใช้คำว่า “ไม่” หรือ “อย่า” เพราะเด็กอาจจะเกิดพฤติกรรมต่อต้าน เช่น “อย่าทำแก้วแตกนะ!” ให้กลายเป็น “ถือแก้วดี ๆ นะ เป็นแก้วที่แพงมาก!”
- ใกล้ชิดกับลูก ๆ ให้มากขึ้น พยายามมองตาเวลาที่คุยกับพวกเขาเป็นหลัก
- เลือกใช้เสียงให้เหมาะสม คุยด้วยโทนเสียงปกติเวลาสื่อสารทั่วไป และเมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินก็ควรจะเลือกใช้เสียงที่ดังเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงความแตกต่าง
- พยายามให้ตัวเลือกหรือเงื่อนไขให้กับเด็ก ๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจว่าทำไมพวกเขาจำเป็นจะต้องทำสิ่งนั้น ๆ เช่น “พอทำการบ้านเสร็จ พวกหนูจะได้เล่นเกมส์นะ”
- ลองถามเพื่อเช็คว่าลูกของคุณเข้าใจคุณจริงไหม ลองให้เด็ก ๆ ได้ฝึกทวนสิ่งที่คุณพูดหรือที่ให้พวกเขาลองทำดูสิ บางทีที่เด็ก ๆ ไม่ทำตามก็อาจจะเพราะพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่คุณขอก็ได้นะ
- ให้เวลากับการสนทนากับลูกของคุณและไม่ขัดเวลาพวกเขาพูด เพราะบางทีคุณอาจจะเมินในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารกับคุณมาก ๆ ก็ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น ให้คุณเตือนตัวเองไว้เสมอว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน ฉะนั้นนอกจาก 7 วิธีดังกล่าวนี้ ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ให้เหมาะสมกับบุคลิกและวิธีการเรียนรู้ของลูกคุณ โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://childdevelopmentinfo.com/how-to-be-a-parent/communication/talk-to-kids-listen/#gs.l1ymxj