เป็นปัญหาหรือไม่ และจัดการอย่างไร เมื่อลูกเป็นเด็กช่างพูด
“เด็กพูดมากเป็นเด็กฉลาด” เป็นคำพูดที่หลายๆคนเคยได้ยินกันทั้งนั้น แต่หากมากเกินไปล่ะ ? ปัญหาของเด็กที่พูดเก่งมากเกินไปคือ พวกเขาอาจจะไม่สามารถอยู่เงียบได้ หรือ อาจจะไม่เป็นผู้ฟังที่ดีนัก และโดยส่วนมากปัญหาดังกล่าวอาจจะกระทบไปถึงพี่หรือน้องที่เป็นฝ่ายไม่ค่อยพูด ให้กลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออก และไม่ยอมพูดสิ่งที่ต้องการพูดได้ เราจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร
เด็กช่างพูดนั้นในบางครั้งสามารถสร้างความกลุ้มใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่าอย่าตำหนิ หรือเข้าไปขัดอารมณ์ลูกรักช่างจ้อจะดีกว่า Jeanne Williams ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาครอบครัว ได้ให้คำแนะนำว่าควรเป็นเพื่อนให้ลูก หรือใครสักหนึ่งที่สามารถนั่งพูดคุยกับเขาเป็นเวลา ซึ่งวิธีการคือ “นั่งในระดับเดียวกันกับเขา มองไปที่ตาของเขา ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพยายามเล่าไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะแสนธรรมดาและไม่น่าตื่นเต้นอย่างไร ก็ให้ทำเป็นสนใจ”
หากลูกนั้นสามารถเห็นคุณเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเรื่องราวต่างๆของพวกเขาได้ตลอดนั้น พวกเขาก็มีแนวโน้มที่เล่าเรื่องและเปิดใจเมื่อเขาโตขึ้นเป็นวัยรุ่น การไปคอยตำหนิว่ากล่าวเมื่อลูกพยายามเล่าเรื่องรู้พูดคุยไร้สาระอยู่นั้น ไม่มีประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเองในอนาคตซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาขาดความมั่นใจได้
ปัญหาการช่างพูดของลูกนั้นเป็นปัญหาที่อาจส่งผลต่อการเข้าสังคมในโรงเรียนของลูกรัก ดังนั้นปัญหาดังกล่าวต้องพูดคุยกับครูที่ปรึกษา เพื่อไม่ให้พวกเขารบกวนเพื่อนร่วมชั้น ซึ่งอาจจะระดมสมองหารือว่าควรทำอย่างไร ให้เขารู้จักควบคุมตนเอง
ในส่วนของที่บ้านนั้น หลักๆคือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่โกรธหรือแสดงอารมณ์ไม่พอใจเมื่อพวกเขาพูดไม่หยุด แม้ว่าจะหงุดหงิดหรือเบื่อหน่ายเรื่องที่พวกเขากำลังพูดเพียงใด นอกจากนี้การสื่อสารกับลูกตรงๆยังเป็นอีกทางที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เช่นการบอกพวกเขาว่า “แม่ขอเวลานอกนะคะ” และสอนให้พวกเขารู้จักกิจกรรมอื่นๆ เช่นการสนุกโดยการร้องเพลง หรือเต้น อ่านหนังสือ แทน
อย่างไรก็ตาม การมีลูกช่างพูดนั้นไม่ถือเป็นเรื่องที่แย่ เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเบาใจได้ว่าพวกเขาจะเป็นคนที่สามารถเข้าสังคมได้และไม่เก็บตัว
Tip: ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำให้เล่นเกม “เงียบ” ใครเงียบได้นานกว่ากันชนะ ลองนำไปเล่นกับลูกดูนะคะ