การเลี้ยงลูกให้ “ประสบความสำเร็จ”
ใครๆก็อยากเลี้ยงลูกให้ “ประสบความสำเร็จ”
การเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 นี้ไม่ใช่แค่เรียนเก่งเพียงอย่างเดียว องค์กรต่างๆ ล้วนต้องการคนที่รักงาน ทุ่มเท คล่องแคล่ว สร้างสรรค์พร้อมปรับตัว มีความสามารถในการเรียนรู้ (ซึ่งไม่เกี่ยวกับไอคิว) มีความเป็นผู้นำและต้องมีความถ่อมตนทางปัญญา (Intellectual Humility) ด้วย
จะเห็นได้ชัดว่า คนที่ประสบความสำเร็จได้จะต้องเป็นคนที่มีอย่างอื่นมากกว่า IQ ดีเพียงอย่างเดียว เพราะในภายภาคหน้าเด็กๆ ในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับความท้าทายยากยิ่ง ทั้งด้านทักษะการทำงานที่ต้องไปได้กับเทคโนโลยีขั้นสูงใหม่ๆ ต้องแข่งขันกับคนทั้งโลก ทรัพยากรที่น้อยลง ปัญหาภัยพิบัติ และยังต้องดูแลคนสูงวัยที่อายุยืนยาวขึ้น ฯลฯ เด็กทุกคนจึงควรได้รับโอกาสพัฒนาฝึกฝนทักษะเพื่อรับมือกับปัญหาได้
แต่คำถามคือ พ่อแม่ กับ ระบบการศึกษาไทยเราได้พัฒนาเด็กไปในทิศทางนี้ที่จะทำให้เขาอยู่รอดและประสบความสำเร็จดีพอแล้วหรือยัง หรือเรายังมัวหมกมุ่นอยู่กับแค่เรื่องคะแนนสอบ เรียนพิเศษ ติวสอบ โดยไม่ได้เสริมทักษะและคุณลักษณะอื่นๆ ที่จำเป็นและสำคัญกว่าให้แก่ลูกของเรา
ทักษะและคุณลักษณะที่ว่านั้นรวมเรียกว่า Executive Functions หรือ ทักษะสมองเพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จ นั่นเอง
“เรียนเก่ง ไอคิวดี”ไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับความสำเร็จในศตวรรษที่ 21″
ทำไมต้อง Executive Functions (EF)
สิ่งที่ทำให้มนุษย์เราแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตร่วมโลกอีกเกือบ 2 ล้านสปีชี่ส์ คือความสามารถของสมองส่วนหน้า ที่ทำให้เราคิดวิเคราะห์ได้ แก้ไขปัญหายากๆ และ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนเป็นโลกที่เจริญก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ได้ สมองทำให้เรามีภาษาสื่อสารกัน สร้างความร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือกันหรือเกิดความเห็นอกเห็นใจต่อกันได้
ความสามารถของสมองส่วนหน้ายังทำให้เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ลึกซึ้ง ทั้งรู้จักตนเอง รู้จักคนอื่น ทำงานที่หวังผลระยะสั้นได้ระยะยาวก็ได้ คิดหน้าคิดหลังเป็น ควบคุมตนเองให้มีความอดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์แวดล้อม แยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี-ไม่ดีต่อตนเอง หรือต่อคนอื่น สามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ กันได้อย่างพลิกแพลง ไปจนถึงกำหนดกฎกติกา สร้างค่านิยมร่วมของสังคมได้ ฯลฯ
สมองส่วนหน้าของเรามหัศจรรย์นัก มนุษย์ไม่ได้ใช้เพียงสัญชาตญาณในการแก้ปัญหาพื้นๆ เช่น ความหิวโหย การเอาตัวรอด หรือการสืบพันธุ์อย่างสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
เราเรียกทักษะสมองที่ทำงานในหน้าที่ต่างๆ ทั้งหมดนั้นว่า Executive Functions ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการความคิด อารมณ์ ความอยาก หรือพฤติกรรมของเรานั่นเอง
ทักษะเหล่านี้ มนุษย์ทุกคนพัฒนาขึ้นได้ เพราะเรามีศักยภาพเหล่านี้อยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่ก็จะต้องมีการพัฒนาด้วยการเรียนรู้และฝึกฝน ที่พ่อแม่ หรือครูจะต้องจัดการฝึกฝนให้กับเด็กๆ ทุกคน จึงจะทำให้เด็กๆ ใช้ทักษะเหล่านี้สร้างความสำเร็จให้แก่ชีวิตตนเองได้
ทักษะสมอง EF (Executive Functions) คือ
ชุดกระบวนการคิด ที่ทำงานในสมองส่วนหน้าของเรา ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อข้อมูลจากประสบการณ์ในอดีตเข้ากับปัจจุบัน ทำให้รู้สึกยั้งคิดยั้งใจ ชะลอความอยาก กำกับพฤติกรรมและอารมณ์ของเราได้ ช่วยปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหา วางแผนบริหารจัดการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วง
นักวิทยาศาสตร์พบว่า ทักษะ EF ทำให้เราสามารถกำกับควบคุมตัวเองได้ (Self-Regulation) สามารถคิดในระดับสูง (High-Level Cognitive Functions) ได้ดีกว่าสัตว์ นั่นคือ มนุษย์สามารถใช้เหตุและผลได้ ควบคุมสัญชาตญาณและความรู้สึกให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมได้ สามารถวางแผนและดำเนินการสิ่งยากๆ ได้ พูดได้ว่าทักษะสมอง EF คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์เราเป็น “มนุษย์” แตกต่างไปจากสัตว์นั่นเอง
ทักษะสมอง EF ประกอบด้วย 9 ด้าน ได้แก่
- ทักษะการจำเพื่อใช้งาน (Working Memory)
- ทักษะยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibition)
- ทักษะยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility)
- ทักษะควบคุมอารมณ์ (Emotional Control)
- ทักษะจดจ่อใจใส่ (Focus/Attention)
- ทักษะติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring)
- ทักษะริเริ่มและลงมือทำ (Initialing)
- ทักษะวางแผนและจัดระเบียบดำเนินการ (Planning and Organizing)
- ทักษะมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence)
เราทุกคนก็มีศักยภาพที่จะมีทักษะสมอง EF กันทั้งนั้น แต่ EF ของใครจะแข็งแรงพาให้ชีวิตตัวเองสำเร็จ หรืออ่อนแอจนเป็นปัญหากับชีวิตก็ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนมีโอกาสพัฒนา EF ได้มาก-น้อยเพียงไร
ที่มา www.rlg-ef.com